ReadyPlanet.com


แบบนั้นสวย แบบนี้หล่อ? เมื่อ ‘มาตรฐานความงาม’ ของสังคมสร้างความบอบช้ำให้ผู้คน


 


บริการ เสริมดั้ง ศัลยกรรมจมูก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี โดย K Beauty Hospital ติดต่อเรา Line : @kbeautyhosp

นิยามความสวยหล่อของคุณคืออะไร? ภาพที่คิดอยู่ในหัวของแต่ละคนอาจจะต่างกันออกไป แต่ถึงแม้เราจะพูดถึงความงามได้ออกมาอย่างปัจเจกแค่ไหนก็ตาม หรือมองว่าทุกคนล้วนมีความงามอยู่ในตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีค่านิยม หรือมาตรฐานบางอย่างกำหนดไว้ ให้เรามองมันไปในทิศทางเดียวกันอยู่ดี

 

ผิวขาว ตาโต จมูกโด่ง หน้าใส ปากเป็นกระจับ รักแร้เนียน ขาเรียวเล็ก ความงามในอุดมคติที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อกระแสหลัก สื่อออนไลน์ และสื่อโฆษณา จนออกมาเป็น ‘มาตรฐานความงาม (beauty standard)’ ที่สังคมยอมรับ แม้มาตรฐานนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตามยุคสมัย แต่ก็เป็นค่านิยมที่ถูกประกอบสร้างใหม่อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยให้ความสำคัญกับความงามเพียงมิติเดียว และมองข้ามความหลากหลายของมนุษย์

มาตรฐานความสวยถูกกำหนดขึ้นผ่านบริบทมากมายในสังคม ดังจะเห็นได้จากสื่อโฆษณาที่ชี้นำให้ผู้คนคิดว่า จะต้องมีสีผิวแบบนั้น หุ่นแบบนี้ เพื่อนำไปสู่การบริโภคสินค้าของแบรนด์ตนเอง เวทีประกวดต่างๆ ที่ใช้รูปร่างหน้าตาเป็นเกณฑ์ ซึ่งเมื่อตัดสินผู้ชนะในตอนสุดท้าย ก็ถือเป็นการเคาะสรุปว่า หน้าตาที่สวยหล่อควรจะเป็นแบบไหน และมาตรฐานนี้ก็ถูกสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีปัจจัยบางอย่างเข้ามาเอื้ออำนวยความสะดวก อย่างการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามและศัลยกรรม

 

รวมไปถึงกระแสในโซเชียล หรือ challenge ต่างๆ ที่ผู้คนสรรหามาเล่นก็ได้บิดให้ค่านิยมนี้เบี้ยวไปมากกว่าเดิม เช่น การเอื้อมมือไปข้างหลังเพื่อแตะสะดือ ใครแตะถึงแสดงว่ามีเอวที่คอดสวยงาม หรือแข่งกันวางเหรียญบนไหปลาร้า ใครวางได้เยอะแสดงว่ามีไหปลาร้าที่ลึกและเด่นชัด ซึ่งมายาคตินี้เองก็ได้สร้างเกณฑ์ที่เหนือความเป็นจริง จนสร้างความบอบช้ำ ทำลายคุณค่าและความมั่นใจของคนยุคใหม่

“คิดว่าตอนนี้ตัวเองไม่ตรงตามมาตรฐานความสวยในสังคมเลย รู้สึกเจ็บปวดมากไม่รู้ทำไม เราสูง 171 ซม. ซึ่งในไทยถือว่าสูงกว่าปกติ แล้วหลายคนก็มองว่าเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะผู้ชายบางคนที่บอกว่าผู้หญิงตัวเล็กคือ ผู้หญิงน่ารัก มันก็แอบข่มคนที่สูงเหมือนกันนะ” โย, 23 ปี, นักศึกษา

“หน้าเรามีสิว ส่องกระจกแล้วเกลียดตัวเองไปเลยพักนึง เวลาไปทำงานแล้วเจอคนเยอะๆ ก็โดนทักตลอด เลยต้องสู้กับใจตัวเองและสายตาของสังคมนิดนึง” ฝัน, 26 ปี, พนักงานร้านกาแฟ

การที่หลายคนบอบช้ำจากมาตรฐานความสวย อาจไม่ใช่แค่ความรู้สึกทุกข์ใจ หรือความกดดันที่นำไปสู่ความพึงพอใจในตัวเองที่ต่ำ หากแต่เพราะมาตรฐานนั้นได้นำไปสู่สิทธิพิเศษบางอย่างในการใช้ชีวิต หรือโอกาสในหน้าที่การงานที่ดีกว่า ซึ่งการที่ไม่ถูกนับว่าอยู่ในเกณฑ์ความสวยหล่อที่สังคมกำหนด โอกาสเหล่านั้นก็อาจจะไม่เกิดกับตัวเรา

ฝันเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยตั้งใจจะสมัครเป็นแอร์โฮสเตส หนึ่งในสายอาชีพที่มีการใช้รูปลักษณ์ภายนอกเป็นเกณฑ์ในการรับสมัคร แต่สุดท้ายความตั้งใจนั้นก็สะดุดด้วยรอยตำหนิบนร่างกาย

“ครั้งแรกเลยที่รู้สึกแย่สุดๆ คือตอนสมัครแอร์ มาตรฐานความสวยของแอร์จะระบุว่า ผิวต้องไม่มีรอยแผลเป็น ซึ่งช่วงนั้นเรามีรอยไหม้ที่ขากับมือ เป็นแผลสดๆ เลยก่อนไปวอล์คอิน แล้วตลอดเวลาที่คุยกับกรรมการ สายตาเขาจะจ้องมาที่แผลของเราอย่างเดียว โดยพูดกับเราไปด้วย ซึ่งมันตอกย้ำความไม่มั่นใจของเราเข้าไปใหญ่ ผลออกมาก็คือเราไม่ผ่าน แล้วก็ไม่กล้าไปสมัครที่ไหนอีก ยอมแพ้ให้กับสายอาชีพนี้แล้ว เพราะเราน่าจะทนความกดดันเหล่านั้นไม่ได้นาน คงร้องไห้จนตาบวมทุกวัน”

ด้วยความกดดันและการถูกปิดกั้นไม่ให้ได้รับโอกาส หลายคนจึงพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งศัลยกรรม เข้าคอร์สความงาม บริโภคอาหารเสริม ออกกำลังกายอย่างหักโหม อดมื้อกินมื้อ เพื่อให้ฟิตกับมาตรฐานดังกล่าว หนึ่งในนั้นก็คือโยที่เคยตัดสินใจศัลยกรรมจมูก

“เราว่ามาตรฐานความสวยในสังคมตอนนี้สูงเกินไปมาก มันทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา และค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่ถูกๆ เลย แล้วรู้สึกว่าทำไมเราต้องเจ็บตัวขนาดนี้ ต้องไปแก้จมูกหลายๆ รอบเพื่อให้ออกมาดูดี ซึ่งแก้แต่ละครั้งเจ็บจนแทบร้อง เคี้ยวข้าวยังยากเลย”

ข้ามไปอีกฟากหนึ่งของโลกอย่างทวีปยุโรป ค่านิยมความสวยที่สังคมติดตั้ง ก็เป็นปัญหาที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้คนเช่นเดียวกัน แซม ซาแมนธา (Sam Samantha) หญิงสาววัย 23  ปี ชาวอเมริกา เล่าให้ฟังว่า 

“ในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงถูกคาดหวังว่าจะต้องผอม ฟันสวย ดูเป็นธรรมชาติ โดยที่ผ่านการแต่งหน้ามาแล้ว (แต่งเหมือนไม่ได้ตั้งใจแต่ง) และต้องยิ้มแย้มตลอดเวลา 

ซึ่งผอมในที่นี้หมายถึงผอมแบบไม่มีกล้ามเนื้อ และใครก็ตามที่ขนาดตัวมากกว่า 6 (เวลาลองเสื้อผ้า) จะถูกตัดสินว่าเป็นคนอ้วน และการเป็นคนอ้วนในประเทศนี้ถือเป็นเรื่องแย่ ทั้งๆ ที่ประเทศอเมริกาติดอันดับประชากรที่เป็นโรคอ้วนอันดับที่ 12

แล้วใครที่มีข้อบกพร่องทางทันตกรรม หรือฟันไม่สวยจะถูกมองว่าน่าเกลียด แถมคุณยังต้องสวยอย่างธรรมชาติ ในที่นี้ก็คือแต่งหน้าเหมือนไม่ได้ตั้งใจแต่ง นอกจากนี้ เรายังถูกบอกให้ยิ้มอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

 

ส่วนผู้ชายจะถูกคาดหวังว่าจะต้องสูง มีกล้ามเนื้อ ไม่มีไขมัน มีขากรรไกรที่ดูแข็งแรง และผมหนา โดยพวกเขาจะต้องดูแข็งแรงกำยำอยู่ตลอดเวลา แต่งตัวดี และดูเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ แม้นี่จะเป็นปี ค.ศ.2020 แล้วก็ตาม พวกเขาต้องทันสมัยและตามเทรนด์อยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับผู้หญิงนั่นแหละ”

จนต่อมา เกิดกระแส body positivity หรือการภูมิใจในการร่างกายของตนเอง โดยมีรากฐานความคิดที่ว่า มนุษย์ความมีความมั่นใจในรูปร่างของตัวเอง และเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่พยายามจะท้าทายการนำเสนอความงามในอุดมคติ จนทำให้มนุษย์รู้สึกไม่ปลอดภัยกับรูปร่างของตนเอง

“มาตรฐานความสวยนั้นอยู่สูงเกินไปเสมอ

ต่อให้คุณคิดว่าคุณเอื้อมไปถึงจุดที่สังคมมองว่าสวย

แต่วันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนไปอีก”

แซม ซาแมนธา, 23 ปี, นักตรวจสอบ

“เหมือนกับเดินอยู่บนลู่วิ่งที่ไม่มีจุดสิ้นสุด คุณจะต้องเปลี่ยนการแต่งหน้า เปลี่ยนการแต่งตัว เปลี่ยนทางผมไปเรื่อยๆ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีบั้นท้ายใหญ่ หน้าอกใหญ่ สะโพกหนา ขนตาเด้งอยู่ตลอดเวลา ห้ามมีพุง ขนขา ขนแขน หรือขนใดๆ ก็ตามยกเว้นผมกับขนตา

ที่อเมริกาพวกเราก็พยายามทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นเรื่องปกติอยู่เหมือนกัน ผ่านแนวคิด body positivity มากขึ้น แต่สุดท้ายทุกคนที่พยายามจะต่อสู้กับบรรทัดฐานเหล่านี้ ก็มักจะได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมความงามอยู่ดี พวกเขาจะทำให้เราคิดว่า การที่เราอ้วนแปลว่าเรามีสุขภาพที่ไม่ดี แม้ว่าบางทีจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถลดน้ำหนักได้ก็ตาม

ตอนเด็กๆ ฉันเคยรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกลียดตัวเองด้วยความที่ฉันเป็นคนอ้วน แต่ตอนนี้ฉันฝึกฝนที่จะรักตัวเองมากขึ้น แล้วรูปลักษณ์ของฉันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป ฉันรู้สึกสวยเพราะสิ่งที่ฉันทำ รู้สึกสวยเพราะผู้คนอารมณ์ดีขึ้นเพราะฉัน และวิธีที่ฉันปฏิบัติต่อสิ่งรอบๆ ตัว ซึ่งมันทำให้ฉันได้คิดว่า แค่เพราะฉันไม่ตรงตามมาตรฐานความสวยของสาวอเมริกา ไม่ได้แปลว่าฉันเป็นคนไม่สวย แต่แปลว่าฉันไม่ได้เข้าไปอยู่ในกรอบ ซึ่งฉันก็ไม่ได้ต้องการแบบนั้นอยู่ดี” แซมเสริม

แม้หลายคนจะพยายามทำลายค่านิยมดังกล่าว เพื่อเปลี่ยนมายาคติความสวยงามแบบใหม่ เช่น เชิญชวนให้ไว้ขนขา ไว้ขนรักแร้ ใส่ชุดว่ายน้ำโดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าอกที่ใหญ่ โชว์รอยแตกลายที่ขาแบบไม่ต้องผ่านการรีทัช แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนค่อยๆ ก้าวออกมาจากความคาดหวังบนร่างกายที่ถูกสังคมหล่อหลอมมาอย่างยาวนาน 

ดังนั้น ใครใคร่เปลี่ยนตัวเองให้ไปตามค่านิยมก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากการเปลี่ยนแปลงที่ว่าสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต หรือเป็นหนทางในการพัฒนาตัวเองให้ดีมากขึ้น เพียงแต่หวังว่าวันหนึ่ง สิ่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานหรือค่านิยมดังกล่าว จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเพื่อที่ความมั่นใจของใครหลายคนจะไม่ถูกทำลายลง

 

เพราะความสวยหล่อเป็นสุนทรียะที่ปัจเจก การกำหนด ‘มาตรฐาน’ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกิดขึ้นจากการครอบงำของระบบทุนนิยม หรือมาตรฐานภายใต้กรอบอำนาจบางอย่าง อาจทำให้อัตลักษณ์ที่หลากหลาย หรือธรรมชาติของมนุษย์ถูกกดทับเอาไว้



ผู้ตั้งกระทู้ KBH :: วันที่ลงประกาศ 2024-03-02 17:51:40


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2013 All Rights Reserved.