ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ไร้พรมแดนนี้ผู้คนผูกพันกับคุณภาพชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับหลายมิติของการวัด (Measurement) ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านในตลาดการค้ามาตรวิทยาในเชิงพาณิชย์ (LegalMetrology) ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วศาสตร์ของการวัดมีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนนับตั้งแต่การวิจัยพัฒนาการควบคุมคุณภาพทั้งในระหว่างการผลิตจนถึงการทดสอบผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย มาตรวิทยาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในระบบประกันคุณภาพที่มีอิทธิพลต่อการค้าทั้งภายในและนอกประเทศ จึงต้องมีการวัดที่แม่นยำ (Precision)ถูกต้อง(Accuracy)โดยมีความไม่แน่นอนในการวัด(Uncertainty)หรือข้อผิดพลาด(Error)ที่เป็นที่ยอมรับได้ มีการสอบเทียบเครื่องมือ(Calibration)และอุปกรณ์การวัดกับมาตรฐานอ้างอิงและสามารถสอบเทียบย้อนกลับ(Traceability)ไปยังมาตรฐานแห่งชาติและต่อเนื่องไปยังมาตรฐานระหว่างประเทศได้
ในช่วงปี 2531-2534 รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากยูเสดเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กพวท.) ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษบริหารโครงการนี้โดยมีการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศทำการสำรวจสถานภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศภายใต้โครงการ "Standards, Testing and Quality Control" ซึ่งตระหนักว่ามาตรวิทยาเป็นโครงสร้างที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งและต้องผลักดันให้มีขึ้นในระดับประเทศให้ได้ กพวท.ได้จัดสัมมนาระดมบุคลากรต่างๆที่ทำงานด้านนี้ให้จัดตั้งระบบมาตรวิทยาแห่งชาติยังมีผลให้บุคคลกลุ่มหนึ่งที่ทำงานด้านมาตรวิทยารวมตัวกันตั้งเป็นชมรมมาตรวิทยาแห่งประเทศไทย (ชมท.) ขึ้นในวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและเอกชนเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นจึงมีมติให้จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคมมาตรวิทยาแห่งประเทศไทย (สมท.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2537 และได้รับจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2538 และได้ผ่านขั้นตอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 ที่สันติบาลและได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยแจ้งเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2539 เป็นสมาคมทางวิชาการอย่างสมบูรณ์
ตั้งแต่ปี 2538 สมท.ได้ผลักดันให้มีการร่างพระราชบัญญัติมาตรวิทยาแห่งชาติผ่านทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการก่อตั้งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติขึ้นซึ่งได้รับการอนุมัติประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 12 กันยายน 2540 เป็นพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ มีผลเป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2540 รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ สมท.ได้จัดฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาทรัพยากรบุคคลทางด้านมาตรวิทยารวมทั้งกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องเป็นต้นมา โดยรับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรม บริษัทที่จำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือวัด หน่วยงานราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้องและได้รับสนับสนุนช่วยเหลือจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งได้เปลี่ยนชี่อจาก กพวท. เดิมเป็นองค์กรอิสระ องค์กรต่างๆเหล่านี้ได้สนับสนุนให้สมท.มีส่วนช่วยพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศให้ไปสู่ระดับสากล
|